วิหารปรัมบานัม
วิหารปรัมบานัน (Prambanan) หรือวัดปรัมบานัน หรือจันทิปรัมบานัน (Candi : ปราสาทหรือเทวาลัย) ที่ความสำคัญและความยิ่งใหญ่ที่ดูน่าอัศจรรย์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามหาเจดีย์บุโรพุทโธ
วิหารปรัมบานัน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปรัมบานัน เป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยชวาภาคกลาง ราว ค.ศ.ที่ 10 โดยพระเจ้าบาลีตุง แต่จากหนังสือประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ ดี จี ฮอลล์ กล่าวว่า ผู้สร้างปรัมบานันน่าจะเป็นพระเจ้าทักษากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งสมัยชวาภาคกลาง ส่วนเหตุที่สร้างนั้นสันนิษฐานว่า สิ่งก่อสร้างทั้งหมดในเทวาลัยแห่งนี้น่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานบรรจุพระศพของกษัตริย์และสมาชิกในพระราชวงศ์ ปรัมบานันก็ถูกละทิ้งและเสื่อมลงในเวลาต่อมาจนมาในยุคปัจจุบันปรัมบานันได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกใน ปี ค.ศ. 1991
ปี ค.ศ. 2006 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่บนเกาะชวา สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับปรัมบานัน อาคารหลายแห่งโดยเฉพาะเทวาลัยขนาดเล็กที่อยู่รายรอบนั้นพังทลายเสียหายหนักจนต้องปิดซ่อมแซมไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ว่าปัจจุบันวิหารปรัมบานันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้อีกครั้ง
ปรัมบานันมีชื่อเรียกขาน (ภาษาถิ่น) อีกอย่างหนึ่งว่า "โลโรจงกรัง" มีที่มาจากตำนานพื้นบ้าน ที่ว่ากันว่าโลโรกรังเป็นเจ้าหญิงแสนงาม (โลโรจงกรังภาษาถิ่นหมายถึงสาวร่างอรชร) จึงมียักษ์มาขอแต่งงานเจ้าหญิงไม่กล้าปฏิเสธ แต่ทรงขอให้ยักษ์สร้างจันทิให้ได้ 1 พันหลังถึงจะแต่งงานด้วย ยักษ์จึงใช้เวทมนตร์สร้างจันทิจนเกือบจะเสร็จสิ้น ส่วนเจ้าหญิงก็ใช้เวทมนตร์ทำลายจันทิเหล่านั้น เพราะไม่ต้องการแต่งงานด้วย ทำให้ยักษ์โกรธจึงสาปเจ้าหญิงให้กลายเป็นหิน แล้วนำรูปมาทำประติมากรรมประดิษฐานอยู่ในปรัมบานันแห่งนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกขานกันว่า "รูปโลโรจงกรัง"
สำหรับความยิ่งใหญ่ของจันทิปรัมบานันนั้นแรกที่ประสบพบเจอก็ทำเอาผมถึงกับอึ้ง ตะลึงงันแล้ว เพราะมันช่างดูอลงการดีแท้ แม้เหล่าจันทิเล็กๆ รอบนอกจันทิหลักที่สร้างเรียงเป็น 4 แถวจำนวน 224 หลังส่วนใหญ่จะถูกผลกระทบของแผ่นดินไหวจนพังทลายเหลือแต่ซาก แต่ว่าก็ยังทิ้งร่องรอยความยิ่งใหญ่ไว้ให้เห็น ถ้าหากยูเนสโกบูรณะซากจันทิเหล่านั้นขึ้นมาได้ ปรัมบานันก็คงจะกลับมายิ่งใหญ่อลังการอีกครั้ง ไม่แพ้บุโรพุทโธ
ถัดจากจันทิเล็กเข้าไปก็เป็นเขตจันทิหลักที่มีกำแพงสี่เหลี่ยมมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ ล้อมรอบ ภายในกำแพงโดดเด่นไปด้วยจันทิขนาดใหญ่ 3 หลัง ที่ล้วนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เชื่อกันว่า จันทิองค์กลางที่ใหญ่ที่สุดเด่นที่สุดและสูงที่สุดถึง 47 เมตรนั้นสร้างถวายแด่พระอิศวร มีห้องกลางประดิษฐานรูปพระอิศวร และห้องเล็กๆ ทางทิศตะวันตกประดิษฐานรูปพระคเนศวร ทางห้องทิศใต้ประดิษฐานรูปพระอิศวรปางมหาโยคี ในห้องทิศเหนือประดิษฐานรูปนางทุรคา ซึ่งคนพื้นถิ่นเชื่อว่านี่น่าจะเป็นรูปโลโรจงกรัง สวนจันทิฝั่งทิศเหนือสร้างแด่พระนารายณ์ และฝั่งทิศใต้สร้างแด่พระพรหม
ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามจันทิพระอิศวรเป็นจันทิขนาดย่อม สันนิษฐานว่าเป็นจันทิพาหนะทรงของเทพทั้ง 3 คือโคนนที(พระศิว) หงส์(พระพรหม) และครุฑ (พระนารายณ์) แต่ปัจจุบันเหลือเพียงโคนนทีเท่านั้น
อนึ่งเหล่าจันทิหลักในเขตกำแพงนั้นจะมีรูปทรงคล้ายกัน มีเจดีย์ทรงกลีบมะเฟืองอิทธิพลศิลปะอินเดีย เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ จันทิบางหลังสามารถขึ้นไปชมภายในและภาพสลักรอบข้างได้ แต่บางหลังก็ขึ้นไม่ได้เพราะอยู่ช่วงการบูรณะ
แต่ก็สามารถเดินชมลวดลายสลักต่างๆ จำนวนมาก ได้โดยรอบ ซึ่งลวดลายส่วนใหญ่จะสลักเป็นเรื่องราวรามายณะ วิถีพื้นบ้าน เทพ เทพี โยคี ฤาษี และสัตว์ในเทพนิยายของฮินดู
นอกจากนี้ปรัมบานันก็ยังมีลวดลายที่เป็นแบบฉบับของ ปรัมบานันโดยเฉพาะ อาทิ ซุ้มรูปสิงห์ที่มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ทั้ง 2 ข้าง และมีรูปกินนรนั่งอยู่ 2 ข้างของต้นกัลปพฤกษ์แต่ละต้น รูปต้นกัลปพฤกษ์มีนกอยู่ 2 ข้างรูปยักษ์จมูกโตหน้าคล้ายคน รูปหน้ากาลหัวมังกร เป็นต้น