|
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic of Indonesia) |
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ระหว่างคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปออสเตรเลีย และระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียว (อินโดนีเซีย: กาลิมันตัน), ประเทศปาปัวนิวกินีบนเกาะนิวกินี (อินโดนีเซีย: อิเรียน) และ ประเทศติมอร์ตะวันออกบนเกาะติมอร์
ข้อมูลทั่วไป
รูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตย ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และหัวหน้าฝ่ายบริหาร
ประธานาธิบดี นางเมฆาวดี ซูการ์โนบุตรี รมว.กต. นายฮัสซัน วิรายูดา
ที่ตั้ง อินโดนีเซียมีพื้นที่ 5,085,606 ตารางกิโลเมตร เป็นแผ่นดิน 1,919,443 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ทะเล 3,166,163 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศหมู่เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยกว่า 17,508 เกาะ รวมอยู่ในพื้นที่ 4 ส่วน คือ
• หมู่เกาะซุนดาใหญ่ ประกอบด้วยเกาะชวา สุมาตรา บอร์เนียว และสุลาเวสี
• หมู่เกาะซุนดาน้อย ประกอบด้วยเกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเกาะชวา มีเกาะบาหลี ลอมบอก ซุมบาวา ซุมบา ฟอลเรส และติมอร์
• หมู่เกาะมาลุกุ หรือ หมู่เกาะเครื่องเทศ ตั้งอยู่ระหว่างสุลาเวสี กับอิเรียนจายาบนเกาะ นิวกีนี
• อีเรียนจายา อยู่ทางทิศตะวันตกของปาปัวนิวกินี
• อินโดนีเซียตั้งอยู่บนเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างทวีปเอเชียกับออสเตรเลีย ทำให้อินโดนีเซียสามารถควบคุมเส้นทางการติดต่อระหว่างมหาสมุทรทั้งสอง ผ่านช่องแคบที่สำคัญต่างๆ เช่นช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และช่องแคบล็อมบอก ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางมายังประเทศ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก
ภูมิอากาศ - อินโดนีเซียมีอากาศร้อนชื้นแบบศูนย์สูตร ประกอบด้วย 2 ฤดู คือ ฤดูแล้ง (พฤษภาคม-ตุลาคม) และฤดูฝน (พฤศจิกายน-เมษายน)
ประชากร - ประมาณ 231,328,092 (2546) ประกอบด้วยชนพื้นเมืองหลากหลายกลุ่มซึ่งพูดภาษาต่างกันกว่า 583 ภาษา ร้อยละ 61 อาศัยอยู่บนเกาะชวา
อัตราการเพิ่มประชากร<1.54% (2545)
จำนวนประชากรในเมืองสำคัญ จาการ์ตา ประชากร 10 ล้านคน สุราบายา 2.5 ล้านคน บันดุง 2.3 ล้านคน
เมดาน 2.1 ล้านคน เกาะบาหลี 3.0 ล้านคน
ศาสนา ชาวอินโดนีเซียร้อยละ 87 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 6 นับถือศาสนาคริสต์นิกาย
โปรแตสแตนท์ ร้อยละ 3.5 นับถือศาสนาคริสต์นิกายแคทอลิก ร้อยละ 1.8 นับถือศาสนาฮินดู และร้อยละ 1.3 นับถือศาสนาพุทธ
ภาษา ภาษาประจำชาติ ได้แก่ ภาษาอินโดนีเซีย หรือ Bahasa Indonesia
การศึกษา ร้อยละ 90 ของประชากรสามารถอ่านออกเขียนได้ อินโดนีเซียมีมหาวิทยาลัยของรัฐ 49 แห่ง และของเอกชนกว่า 950 แห่ง
• ทรัพยากรธรรมชาติ
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรสำคัญประกอบด้วย น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ดีบุก ทองแดง นิเกิล บ๊อกไซด์ ทอง เงิน และแร่เหล็ก นอกจากนี้ อินโดนีเซียมีทรัพยากรป่าไม้ถึงร้อยละ 59 ของพื้นที่บนพื้นดินทั้งหมด ทรัพยากรประมงจำนวนมาก ซึ่งยังไม่ได้รับการสำรวจ
• ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ มะพร้าว น้ำมันปาล์ม เครื่องเทศ กาแฟ โกโก้ ยางพารา
สกุลเงิน รูเปียห์ (Rupiah) อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ 8,500-9,500 รูเปียห์
ปีงบประมาณ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม (ก่อนปี 2544 เป็น 1 เมษายน - 31 มีนาคม)
เขตการปกครอง อินโดนีเซียแบ่งการปกครองเป็น 29 จังหวัด และเขตการปกครองพิเศษ 3 เขต ได้แก่ กรุงจาการ์ตา นครย็อกยาการ์ตา และจังหวัดอาเจห์
การแบ่งเขตการปกครอง ปัจจุบัน อินโดนีเซียมี 32 จังหวัด (ซึ่งรวมถึง 2 เขตพิเศษ และ 1 เขตเมืองหลวง) ซึ่งแต่ละจังหวัดจะแบ่งเป็นเขตต่าง ๆ และแบ่งเป็น เขตย่อย ๆ และ เทศบาลลงไปอีก ซึ่งจังหวัดมีดังนี้
• กาลิมันตันกลาง
• กาลิมันตันตะวันตก
• กาลิมันตันตะวันออก
• กาลิมันตันใต้
• โกรอนตาโล
• จัมบี
• ชวากลาง
• ชวาตะวันตก
• ชวาตะวันออก
• นูซาเต็งการาตะวันตก
• นูซาเต็งการาตะวันออก
• บังกา-เบลีตุง
• บันเต็น
• บาหลี
• เบงกูลู
• ปาปัว (หรือ "อิเรียนจายา")
• มาลูกู
• มาลูกูเหนือ
• รีเยาเกปูเลาอัน
• รีเยา
• ลัมปุง
• สุมาตราตะวันตก
• สุมาตราใต้
• สุมาตราเหนือ
• สุลาเวซีกลาง
• สุลาเวซีตะวันออกเฉียงใต้
• สุลาเวซีตะวันออกเฉียงใต้
• สุลาเวซีเหนือ
• อิเรียนจายาบารัต (หรือ "อิเรียนจายาตะวันตก" )
เมืองหลวง ได้แก่ จาการ์ตา
เมืองสำคัญ ได้แก่ จาการ์ตา สุราบายา บันดุง เมดาน เซมารัง ปาเลมบัง เป็นต้น
ความเป็นมาของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ในอดีตหมู่เกาะต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันยังไม่มีการรวมตัวกันเป็นรัฐเดียว แต่ได้แยกกันเป็นแคว้นต่างๆ หลายแคว้น จนกระทั่งชาวดัทช์ได้เข้ามา
ปกครอง แต่เดิมหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย ทั้งด้าน
การค้าและวัฒนธรรม ทำให้ได้รับอิทธิพลทางด้านความเชื่อของฮินดูและพุทธ จนกระทั่งอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้เข้ามาแทนที่ในศตวรรษที่ 13
ในศตวรรษที่ 15 อินโดนีเซียเริ่มเป็นที่สนใจของชาวยุโรปเนื่องจากเป็นแหล่งเครื่องเทศ ชาวโปรตุเกสและสเปนได้เริ่มเข้ามาในภูมิภาคในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 16 และ โปรตุเกสได้ยึดครองติมอร์ตะวันออกเป็นอาณานิคม การจัดตั้งบริษัท ดัทช์ อีส อินเดีย หรือ Vereniging Oost Indische Compagnie-VOC ใน พ.ศ. 2145 เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าปกครองอินโดนีเซียในฐานะอาณานิคมของดัชท์ ในช่วงแรก บริษัท VOC ใช้วิธีเข้าไปมีอิทธิพลเหนือผู้ปกครองท้องถิ่น ต่อมา ใน พ.ศ. 2342 หลังจาก รัฐบาลฮอลันดาเข้าควบคุมกิจการบริษัท VOC รัฐบาลฮอลันดาก็ได้เข้าปกครองอินโดนีเซียในรูปแบบอาณานิคม
ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เกิดกระแสชาตินิยม ในอินโดนีเซียต่อต้านการปกครองของเจ้าอาณานิคม ใน พ.ศ. 2485 ญี่ปุ่นมีชัยชนะเหนือบริษัทดัทช์ อีสท์ อินเดีย และได้เข้าปกครองอินโดนีเซียระยะหนึ่ง หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม กลุ่มชาตินิยม นำโดย ซูการ์โนและฮัตตา ได้ประกาศอิสรภาพให้แก่อินโดนีเซีย ในวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2488 อย่างไรก็ตาม ยังมีการต่อสู้กันระหว่างอินโดนีเซียกับดัทช์ ซึ่งพยายามกลับมาปกครองอินโดนีเซียในฐานะเจ้าอาณานิคม จนกระทั่ง 27 ธันวาคม 2488 ดัทช์จึงได้ยอมมอบเอกราชให้แก่อินโดนีเซียอย่างสมบูรณ์
อินโดนีเซียได้ขยายเขตแดนของประเทศ 3 ครั้ง ได้แก่ เมื่อ 1 พฤษภาคม 2506 ภายหลังจาก Dutch New Guinea หรือ Irian Jaya ในปัจจุบันได้รับเอกราช อินโดนีเซียได้ประกาศผนวกดินแดนในเดือนกันยายน 2512 ต่อมา ในปี 2518-2519 อินโดนีเซียได้บุกเข้ายึดครองและผนวกดินแดนติมอร์ตะวันออก ซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส และได้ประกาศผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในเดือนกรกฎาคม 2519 แต่ประชาคมระหว่างประเทศไม่ยอมรับการอ้างสิทธิเหนือติมอร์
ตะวันออกของอินโดนีเซีย จนทำให้สหประชาชาติได้เข้ามามีบทบาทดำเนินการให้
ติมอร์ตะวันออก (สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต) กลายเป็นประเทศอิสระ เมื่อ 20 พฤษภาคม 2545
ในเดือนเมษายน 2525 นานาชาติได้ประกาศให้การยอมรับการอ้างอธิปไตยเหนือพื้นที่ทะเล ซึ่งเชื่อมเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน ทำให้อินโดนีเซียสามารถประกาศ ให้พื้นที่ทะเลเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศได้ในปี 2526
|
|
|
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็ปของเรา
เว็ปไซท์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่นักศกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ณ ประเทศอินโดเนเซีย ทางเราจะพยายามหาข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่างแล้วนำมาประกาศในเว็ปไซท์นี้ด้วยหากมีข้อส่งสัยสามารถ comment ได้ภายในเว็ปไซท์หรืออาจจะส่งข้อความมาที่ rorkman@hotmail.com ถ้าเกิดว่าข้อมูลไหนที่เป็นประโยชน์ทางเราจะนำมาลงเว็ปไซท์
|
|